Lucky Charms Moon

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ปัญหาน้ำท่วมดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ทุกคนคุ้นชินและรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยเพราะปัญหาดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่งผลในวงกว้าง ด้วยปัญหาการระบายน้ำและการขยายตัวของสังคมเมืองในกรุงเทพมหานคร  นอกจากจะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกคูคลองมิให้ตื้นเขินแล้ว ยังจะต้องดูระยะเวลาน้ำขึ้น-ลง ของน้ำทะเลอีกด้วย ซึ่งถ้าหากบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกต้องก็จะสามารถช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนได้ 
 ในบริเวณพื้นที่คลองลัดโพธิ์ ตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ก็เป็นที่ระบายน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่เดิมเป็นลำคลองที่มีขนาดเล็กและตื้นเขิน ต่อมาจากสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จึงได้พระราชทานให้มีการจัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ สู่การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "การเบี่ยงน้ำ" (Diversion) ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)            
ด้วยการสังเกตจากลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่ามีลักษณะการไหลของน้ำที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่บางกระเจ้า ที่มีความยาวถึง 18 กิโลเมตร อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของการระบายน้ำที่ล่าช้า  ซึ่งหากระดับน้ำทะเลหนุน ก็จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาคลองลัดโพธิ์ ด้วยการขุดขยายคลองเพื่อลดระยะทางและเวลาการไหลลงของน้ำบริเวณ “พื้นที่กระเพาะหมู” ทำให้น้ำไหลลงได้รวดเร็วขึ้นจากระยะทางเพียง 600 เมตรและย่นระยะเวลาจาก 5  ชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น  ทั้งยังสามารถบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามกำหนด ด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเวลาของน้ำขึ้น-น้ำลงและน้ำทะเลหนุนสูง จึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอำเภอพระประแดง ตลอดจนสามารถเร่งระบายน้ำเหนือที่ไหลหลากในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีศักยภาพในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาและวิจัย โดยการประดิษฐ์กังหันไฟฟ้าพลังน้ำไหลต้นแบบขึ้นมา 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) โดยใช้ใบพัดต้นแบบที่วิเคราะห์และผลิตขึ้นแบบหมุนตามแนวแกนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และใบพัดแบบหมุนขวางการไหลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ยาว 2.50 เมตร ที่ความเร็วน้ำออกแบบ 2 เมตรต่อวินาที จะทำให้ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 กิโลวัตต์ โดยได้ดำเนินการประกอบและติดตั้งกังหันทั้ง 2 แบบกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้นลงได้บริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เพื่อทำการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าผลปรากฏว่า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดถึง 5.74 กิโลวัตต์ สูงกว่าที่ได้วิเคราะห์และคำนวณออกแบบไว้
โครงการคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชทาน เพื่อเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือออกสู่ทะเล อันจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เกิดจากพระวิริยะอุตสาหะในการค้นค้นคว้า จนเข้าถึงสภาพภูมิประเทศอย่างถ่องแท้และทรงนำหลักคิดจากการใช้ประโยชน์ของคลองลัดโพธิ์ที่ขุดขึ้นมากว่า 300 ปี จนผู้คนทั่วไปลืมเลือนและลบหายไปจากแผนที่มาผสานเข้ากับหลักวิชาการและทฤษฎีการขึ้น-ลงของน้ำ ทั้งยังคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวมของธรรมชาติ ตลอดจนสภาพทางสังคมและชุมชน นับเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้“หลักแห่งธรรมชาติ” เป็นแนวทางเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น