Lucky Charms Moon

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บรรยากาศ



"โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์"
        ตลอดระยะเวลา 70 ปี ในการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฏรอยู่เสมอ พระองค์จึงทรงใช้พระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะ ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ มากมายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ถ้าหากเอ่ยถึงโครงการอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริที่เป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำที่ดี คงหนีไม่พ้น "โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์"
 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ


ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
        “คลองลัดโพธิ์” เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัส
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ไว้ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครได้
   
       ในอดีตคลองลัดโพธิ์นั้นถือเป็นคลองลัดแนวเหนือ-ใต้ของคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ที่ 9 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่าน มีพระราชดำริเมื่อปี 2538 ให้พัฒนาใช้คลองเล็กๆ บริเวณกระเพาะหมูเรียกว่า "คลองลัดโพธิ์" ซึ่งเดิมตื้นเขินมีความกว้างเพียง 10-15 เมตร มาใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน
และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลงทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้


คลองลัดโพธิ์ ยังเป็นต้นแบบในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำตามประตูระบายน้ำ
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน จังหวัดสมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการ
 และดำเนินการปรับปรุงขุดลอกคลองลัดโพธิ์ พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม
 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
   
       จึงได้เกิดเป็น "โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์" อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นมา
 เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" (Diversion)
ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษ
เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)


สะพานภูมิพล
        โดยมีหลักการที่ว่า จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยว
บริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร ทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจึงมีพระราชดำริ
ให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทาง
สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน
 เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึง
เวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้ ซึ่งนอกจากเป็นประตูระบายน้ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
โดยออกแบบเป็นกังหันพลังน้ำอาศัยพลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำ ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.74 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งผลการทดลองก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
ซึ่งอาจนำไปเป็นต้นแบบในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำตามประตูระบายน้ำต่าง ๆ ได้ด้วย
   
       และเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทาง
ชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 ที่คนไทยต่างซาบซึ้ง
ในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ท่าน อีกทั้งยังได้ประจักษ์ถึงประสิทธิภาพของประตูระบาย
น้ำคลองลัดโพธิ์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแท้จริง


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำริ "โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์"
        ทั้งนี้ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ได้เคยทำการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ผ่านทางTPBS
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 54 ไว้ว่า คนไทยทุกคนต้องประจักษ์ในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่พระองค์ทรงดำริ
ให้สร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ขึ้น เพราะว่าคลองลัดโพธิ์ไม่เคยประสบกับเหตุการณ์แบบนี้
 เป็นครั้งแรกที่น้ำเหนือมามากและน้ำทะเลก็หนุนมากเช่นกัน ซึ่งช่วงที่น้ำลงคลองลัดโพธิ์ได้เปิดประตูน้ำ
 น้ำก็ระบายลงมาที่คลองลัดโพธิ์
   
       “คลองลัดโพธิ์มีประสิทธิภาพศักยภาพตอนที่ออกแบบระบายน้ำได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันคลองลัดโพธิ์สามารถระบายน้ำได้ 660 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบได้เท่ากับแม่น้ำยมหนึ่งสายสามารถผ่านประตูน้ำทางนี้ได้ และในกรณีที่น้ำทะเลขึ้นคลองลัดโพธิ์ก็จะต้องปิดประตูน้ำเพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุน ตอนนี้ในขณะที่น้ำทะเลขึ้นก็ไม่ได้มีการปิดประตูน้ำ แต่น้ำก็ไม่สามารถดันเข้าไปได้ แต่น้ำได้อ้อมผ่านไปทางบางกะเจ้า แล้วไหลย้อนกลับมาทางทิศเดิม นั่นหมายความว่าคลองลัดโพธิ์ได้ช่วยลดอิทธิพลของน้ำที่จะดันขึ้นไป ส่วนหนึ่งแน่นอนน้ำดันขึ้นไปถึงกรุงเทพฯชั้นใน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ถูกตัดมาที่คลองลัดโพธิ์เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าพระมหากรุณาธิคุณมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง ทำให้บริเวณบางกะเจ้าทั้งหมด บางน้ำผึ้ง และหลายๆ อบจ.ด้วยกันไม่โดนน้ำท่วม”


ภายใน “สวนสุขภาพลัดโพธิ์”
        สำหรับคลองลัดโพธิ์ นอกจากจะช่วยป้องกันเรื่องภัยน้ำท่วมได้แล้ว ทุกวันนี้บริเวณละแวกคลองลัดโพธิ์ยังได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ
ที่มีความน่าสนใจและเชิญชวนให้ไปเที่ยวกัน เพราะบริเวณคลองลัดโพธิ์ได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะ
 ชื่อ “สวนสุขภาพลัดโพธิ์” ที่มีความร่นรื่นด้วยต้นไม่น้อยใหญ่ ให้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อยใจ ออกกำลังกายได้


“สวนสุขภาพลัดโพธิ์” เป็นสวนอีกแห่งที่ประชาชนมาออกกำลังกาย พักผ่อน
        นอกจากนี้ภายในสวนยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์โครงการวงแหวนอุตสาหกรรม ที่จัดแสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนที่ เกี่ยวกับประวัติและประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญ และส่วนที่ 3 เกี่ยวกับงานก่อสร้างโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ข้อมูลสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ข้อมูลด้านวิศวกรรมสะพาน


บรรยากาศอีกมุมของ “สวนสุขภาพลัดโพธิ์”
        อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงกับคลองลัดโพธิ์ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนคลองบางกะเจ้า ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ เป็นชุมชนที่อยู่กันอย่างสงบสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความรื่นรมย์ของต้นไม้และสายน้ำอันน่าอยู่ รวมถึงยังมี “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สวนบางกระเจ้า” อยู่ในอ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีความร่มรื่นของแมกไม้ ที่นี่เป็นเหมือนปอดอันสดชื่นที่ชวนให้มาเที่ยวผ่อนคลาย มาทำกิจกรรมมากมายภายในสวน และก็ยังมี “ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง” เป็นตลาดน้ำ ที่มีพ่อค้าแม่ขายพายเรือมาขายของ และมีร้านค้าขายบนบกด้วย ให้ได้เลือกซื้อ เลือกชิม เลือกช้อปของกินคาว-หวาน และของอื่นๆ อีกอย่างมากมาย


บรรยากาศสวนสุขภาพลัดโพธิ์
        และนี่เป็นอีกหนึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงอัจฉริยภาพของพระองค์เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของของราษฏรได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ในวันนี้พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของท่านต่างๆ คือพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดไป


ประชาชนละแวกใกล้เคียงปลอดภัยจากน้ำท่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น